วันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2555

แบบวิจัยชั้นเรียน-หน้าเดียว


วิจัยหน้าเดียว  : ด้านพฤติกรรม

รายวิชาภาษาไทย ท ...............                                                                      ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒
เรื่อง  นักเรียนคุยหยอกล้อกันขณะเรียน
……………………………………………………………
สภาพปัญหา
                จากสภาพการเรียนการสอนวิชาภาษาไทย   ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒  ซึ่งต้องสอนในคาบสุดท้ายของวันนักเรียนส่วนหนึ่งไม่สนใจเรียน อยากกลับบ้าน จึงพากันหยอกล้อพูดคุยในห้องเรียนไม่ตั้งใจเรียน เป็นอุปสรรคในการจัดกิจกรรมการเรียนปกติ  หากปล่อยให้เป็นไปลักษณะนี้ทุกครั้งจะส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ

วิธีแก้ปัญหา
                ผู้สอนคิดวิธีแก้ปัญหาพฤติกรรมดังกล่าว ด้วยการบันทึกชื่อนักเรียนเอาไว้     เมื่อถึงคาบเรียนก็จะสร้างข้อตกลงว่า วันนี้นักเรียนต้องถูกแจ๊คพ็อตอ่านออกเสียงหน้าชั้นเรียน โดยครูสุ่มจากเลขที่  และจะให้คะแนนการอ่านออกเสียงร้อยแก้วไม่ต้องไปสอบรายคน  เมื่อเริ่มกิจกรรมการเรียนการสอน นักเรียนกลุ่มดังกล่าวก็เริ่มพฤติกรรมเดิม  ครูทำเป็นไม่สนใจ และขานเลขที่ให้ออกมาอ่านเรื่องที่ครูเตรียมไว้หน้าชั้นเรียน ๑ ย่อหน้า  นักเรียนออกมาอ่านตามกำหนด และกลับไปนั่ง  ผู้สอนดำเนินลักษณะนี้เรื่อยไปโดยเว้นจังหวะเป็นช่วงๆ  เริ่มสังเกตเห็นว่านักเรียนที่คุยหยอกล้อ เริ่มชะงักลง และรีบก้มลงดูตัวหนังสือ เพราะครูไม่บอกว่าเพื่อนอ่านถึงตรงไหน และใครจับตำแหน่งที่อ่านไม่ได้ จะถูกหักคะแนน  นักเรียนออกมาอ่านตามที่ขานทุกคน ครูชมเชยหลังอ่านตามสภาพจริง โดยไม่ดุ ไม่ลงโทษที่พูดคุย    ผลปรากฏว่านักเรียนลดพฤติกรรมดังกล่าวลงและพัฒนาตนเองดีขึ้นในคาบหลังๆ

สรุปผลการวิจัย
          การแก้ปัญหาด้วยวิธีให้นักเรียนออกมามีส่วนร่วมในการอ่าน   ปรากฏว่านักเรียนลดพฤติกรรมดังกล่าวลงและพัฒนาตนเองดีขึ้นในคาบหลังๆ  เพราะได้แสดงออก และได้รับคำชมเชยทำให้นักเรียนรู้สึกมีคุณค่า และทำได้  ปัจจัยแห่งความสำเร็จนี้ผู้สอนต้องเป็นคนช่างสังเกตและบันทึกข้อมูล  ไม่ควรปล่อยให้ปัญหาเกิดซ้ำซาก  นอกจากนี้ต้องแก้ปัญหาด้วยความใจเย็น  ไม่เกรี้ยวกราดนักเรียน


ลงชื่อ ...............................................ผู้วิจัย            ลงชื่อ......................................หัวหน้ากลุ่มสาระฯ
             (...................................................)                             (........................................)

 ------------------------------------------------------------



วิจัยหน้าเดียว  : ด้านการเรียน

รายวิชาหลักภาษาไทย ท ...............                                                                       ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖
เรื่อง  การสอนคำสมาสสนธิ
............................................................................................................................
สภาพปัญหา
                จากการเรียนการสอนวิชาหลักภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ซึ่งเป็นวิชาเพิ่มเติมและจัดสอนเพื่อให้นักเรียนเตรียมตัวใช้ความรู้เพื่อสอบเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา  นักเรียนตอบคำถามเรื่องคำสมาสสนธิได้คะแนนในระดับต่ำเป็นส่วนใหญ่  เมื่อสอบถามก็จะบอกว่ามักจะสับสนและไม่แน่ใจในลักษณะคำ    นอกจากนี้เมื่อครูเขียนคำให้ตอบว่าเป็นคำสมาสหรือสนธินักเรียนไม่สามารถตัดสินจากรูปคำได้ทันที    ปัญหาดังกล่าวเป็นประเด็นที่ต้องหาทางแก้ไขเบื้องต้น  เพราะหากนักเรียนไม่เข้าใจชัดเจน จะส่งผลถึงการเรียนในระดับสูง
วิธีแก้ปัญหา
             ผู้สอนหาวิธีในการแก้ปัญหาโดยใช้รูปคำเป็นการตัดสินเบื้องต้นอย่างง่าย   ดังนี้
             การสังเกตคำสมาส
          ๑. A + B   เป็น  AB
            A และ B เป็นแฟนกันเดินตามหลังกัน ใช้คำเดิม  (ยังไม่มีลูก)  เช่น   วาท + ศิลป์   - วาทศิลป์
                   แปลความหมาย จากหลังไปหน้า
             ๒. A + B  เป็น C
            A และ B แต่งงานกัน  มีลูกเป็น C หน้าตาเหมือนพ่อและแม่  เช่น  อรุณ + อุทัย   เป็น อรุโณทัย
                 คำ ๒ คำกลืนเชื่อมเข้าด้วยกันด้วยการใช้กฎสระ ซึ่งนักเรียนจะได้ศึกษารายละเอียดตามตัวอย่างต่อไป
สรุปผลการวิจัย
             การแก้ปัญหาด้วยการใช้สูตรดังกล่าว  ส่งผลให้นักเรียนสังเกตคำสมาสสนธิได้ดีกว่าเดิม  และตอบคำถามจากการสังเกตรูปคำได้ทันที   อัตราการตอบพัฒนาคะแนนขึ้นกว่าเดิมมาก  ส่วนรายละเอียดการเข้าสนธินั้น เป็นสิ่งที่จะต้องใช้หลักสังเกตต่อไป   ปัจจัยแห่งความสำเร็จนี้ผู้สอนต้องเป็นผู้ที่สามารถวิเคราะห์แยกแยะสังเกตคำ และหาหลักคิดเพื่อแก้ปัญหาให้นักเรียนได้ตรงประเด็นเป็นเบื้องต้นก่อน  โดยเป็นผู้ที่ใฝ่เรียนรู้ และมองเห็นช่องทางใหม่ๆในการพัฒนานักเรียนเสมอ จากนั้นก็จูงใจให้นักเรียนลองคิดค้นวิธีเอง
           
 ลงชื่อ ........................................ผู้วิจัย            ลงชื่อ...............................หัวหน้ากลุ่มสาระฯ
            (........................................)                                   (........................................)
                  ......../............/............

วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

                    ความรัก



                                  ความรักเหมือนโรคา    บันดาลตาให้มืดมน
                          ไม่ยินและไม่ยล                   อุปสรรคะใดใด
                          ความรักเหมือนโคถึก           กำลังคึกผิขังไว้
                          ก็โลดจากคอกไป                บ ยอมอยู่ ณ ที่ขัง
                          ถึงหากจะผูกไว้                    ก็ดึงไปด้วยกำลัง
                          ยิ่งห้ามก็ยิ่งคลั่ง                   บ หวนคิดถึงเจ็บกาย

                            (บทละครพูดคำฉันท์ : มัทนะพาธา : รัชกาลที่ ๖)

คำเตือน : ในวันแห่งความรักนี้ ๑๔ กุมภาพันธ์
              ความรักมีทั้งคุณและโทษ เมื่อรักสมหวังก็จะสดใส แช่มชื่น เมื่อความรักกลายเป็นความหลง ขาดสติไม่ไตร่ตรองรักก็มีโทษ 
             ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์ ความรัก ความหลง ทำให้ตาบอด (ตาใจบอดจ๊ะ)ไม่ฟังใคร ในที่สุดก็
ชอกช้ำเจ็บปวด

 

            

สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

            สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า 
            ประสูติเมื่อ ๑๐ กันยายน พ.ศ.๒๔๐๕
            เสด็จสวรรคตเมื่อ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๘ มีพระชนมายุยืนนานถึง ๙๓ พรรษา จากช่วง ๖ ปีสุดท้ายในรัชกาลที่ ๔ ถึงรัชกาลที่ ๙ รวม ๖ แผ่นดิน
            ทรงประสบเหตุการณ์สำคัญในบ้านเมือง เช่น การพัฒนาประเทศให้เท่าเทียมกับประเทศทางตะวันตก การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ฯลฯ ทรงวางพระองค์ได้ดียิ่งในช่วงระยะเริ่มแรกของการเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย ทรงเป็นที่ปรึกษาในการอภิบาลสมเด็จพระราชนัดดา ทรงมีส่วนร่วมในการตัดสินให้รัชกาลที่ ๘ เสด็จขึ้นครองราชย์  เพื่อประโยชน์สุขของบ้านเมือง การวางพระองค์และการตัดสินเรื่องราวต่างๆ แสดงถึงพระปัญญาที่เฉียบแหลม พระคุณธรรม และกำลังพระราชหฤทัยที่แน่วแน่มั่นคง เข้มแข็ง
                                                                                                                                            
                                                                                                                         (มีต่อตอน ๒)

วันอังคารที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

รายงานการวิจัยและพัฒนาศักยภาพนักเรียนด้านการอ่านการเขียนภาษาไทยด้วยการจัดการความรู้



รายงานการวิจัยและพัฒนาศักยภาพนักเรียนด้านการอ่านการเขียนภาษาไทยด้วยการจัดการความรู้ของโรงเรียนกอบกุลวิทยาคม (สพท. ๓ สงขลา)

ผู้วิจัย : นางสาวภัทรญาดา ไชยฤกษ์
ที่ปรึกษา : ผู้อำนวยการศุภณัฐ เพชรรัตน์
ปีที่พิมพ์ : พ.ศ.๒๕๕๒
............................................................................................................................................................
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ
         ๑) เพื่อพัฒนารูปแบบนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนกอบกุลวิทยาคม ให้มีประสิทธิภาพ ในการส่งเสริมการอ่านการเขียนภาษาไทยของผู้เรียน ด้วยการจัดการความรู้
         ๒)เพื่อเสนอแนวทางการจัดการเรียนการสอนสำหรับพัฒนาผู้เรียนด้านภาษาไทย เพื่อพัฒนาการอ่านการเขียนในพื้นที่การศึกษาสงขลา เขต ๓ โดยใช้กลุ่มประชากรนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๕๑ โรงเรียนกอบกุลวิทยาคมที่อ่านไม่คล่องเขียนไม่คล่อง จำนวน ๓๐ คน รวบรวมข้อมูลด้านปริมาณและด้านคุณภาพ ใช้สถิติค่าความถี่และค่าร้อยละ
ผลการวิจัยพบว่า
         ๑) โรงเรียนกอบกุลวิทยาคม มีรูปแบบการจัดการความรู้ของครูในการพัฒนานักเรียนและงานในหน้าที่ ตามกระบวนการจัดการความรู้ ๗ ขั้นตอน ร่วมพูดคุยกันในกิจกรรมเรื่องเล่าเร้าพลัง เพื่อสกัดความรู้และนำความรู้เหล่านั้นไปพัฒนาตนเอง
        ๒) มีรูปแบบในการพัฒนาการอ่านเขียนภาษาไทย (best practice)ของโรงเรียน คือ การใช้รูปแบบค่ายนวัตกรรมน้องนางแก้มตุ่ย สอนโดยใช้กระบวนการพัฒนาศักยภาพก่อนแล้วกำหนดเพลงสัญลักษณ์ของค่ายและกลุ่ม จากนั้นฝึกปฏิบัติด้วยชุดฝึกภาษา ๘ ชุด การ์ตูนลายนิ้วมือ และเน้นรูปแบบกระบวนการกลุ่มสัมพันธ์ในการฝึก ด้วยเทคนิคต่างๆและแนวคิด เสริมรักเสริมแรงใจ ให้รู้จักคุณค่าแห่งตน ฝึกฝนสมาธิลีลา สอนภาษาประสมคำ ท่องจำได้ ใช้คำเป็น เห็นคุณค่าภาษาไทย
        ๓) การสอนภาษาไทยเพื่อส่งเสริมการอ่านควรเริ่มจากเทคนิคการสอนที่ต้องศึกษาสภาพผู้เรียนเป็นรายบุคคลก่อน สร้างความตระหนักให้เห็นคุณค่าในตนเอง ปรับเจตคติ สร้างวินัยเชิงบวก ส่วนรูปแบบการสอนภาษาไทย สอนโดยยึดการสอนแบบแจกลูกสะกดคำ พื้นฐานง่ายๆ และการสอนด้วย สื่อ เกม และเพลง เพื่อสร้างเจตคติที่ดีในการเรียนภาษาไทย และการใช้กระบวนการกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน เทคนิคการเสริมแรงเชิงบวก
       ๔) การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เกิดขึ้นกับครุ ครูเริ่มเข้าใจประโยชน์ของการจัดการความรู้ ขวนขวายหาความรู้ ปรับวิธีสอนให้ทันสมัยขึ้น ยอมรับคนอื่น และรู้จักจุดเด่นของตนเอง จัดระบบงานและบันทึกข้อมูลเป็นระบบขึ้น
       ๕) การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านนักเรียน นักเรียนจัดวางตนเองลงในสังคมได้ โดยไม่รู้สึกว่ามีปมด้อยและลดพฤติกรรมด้านลบลงมาก นักเรียนมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปในด้านบวก รู้จักคุณค่าในตนเอง ตั้งใจเรียนกว่าเดิมและมีจิตสาธารณะ
       ๖) ผลสัมฤทธิ์ด้านการเรียนวิชาภาษาไทย ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๑ มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของปีการศึกษา ๒๕๕๐
ชุดฝึกนวัตกรรมน้องนางแก้มตุ่ย
                  เขียนจากประสบการณ์   อ่านออกเสียงชัด
                  จับคู่สัตว์แสนง่าย           อ่านสบายพร้อมกัน
                  มุ่งมั่นเขียนคำ                อ่านซ้ำขึ้นใจ
                  ร้อยคำเร็วไว                  อ่านให้ดังดัง
                  แต่งประโยคเร็วจัง         อ่านซ้ำทีละคน
                  รวมคำฝึกฝน                 น้องนางทบทวน
ข้อเสนอแนะในการนำผลวิจัยไปใช้
        ๑) การจัดการความรู้ในสถานศึกษา ยังดำเนินการได้ไม่เข้มแข็งตามที่คาดหวัง เพราะพื้นฐานความถนัดของตัวบุคคล แต่ละคนไม่เหมือนกัน ฝ่ายนริหารต้องกำกับติดตามและช่วยเหลือให้ครุได้ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้กันทุกคน เพื่อประโยชน์ในการใช้แหล่งความรู้อย่างรวดเร็วเป็นระบบ
        ๒) นวัตกรรมการพัฒนาการอ่านเขียนของนักเรียนโดยใช้รูปแบบค่านนวัตกรรม ควรขยายขอบเขตการใช้นวัตกรรม ไปสู่ชั้นเรียนอื่นๆ และวิชาอื่นๆมากขึ้น
        ๓) การ์ตูนลายนิ้วมือ เป็นนวัตกรรมสำคัญที่กระตุ้นนักเรียนด้านการอ่านการเขียนการเล่าเรื่อง ฝึกกระบวนการคิดและสร้างสรรค์ ปัจจุบันภาษาไทยกำละงประสบภาวะวิกฤติ ควรพัฒนาแบบฝึกทักษะที่สร้างขึ้นเพื่อใช้สอน ให้เป็นชุดการสอนบูรณาการหลากหลายวิชา เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนที่สนใจจะศึกษาด้วยตนเองได้ และขยายผลสู่โรงเรียนอื่นๆให้มากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาการสอนภาษาไทยในระดับช่วงชั้นที่ ๑-๒ ซึ่งเป็นพื้นฐานการเรียนที่สำคัยก่อนเข้าสู่ระดับมัธยม เป็นการแก้ปัญหาความบกพร่องด้านการอ่านการเขียน
ข้อเสนอแนะในการวิจัยครั้งต่อไป
       ๑) การจัดการความรู้ของครูในโรงเรียน ควรเตรียมครูให้มีความรู้พื้นฐาน ในการจัดการความรู้และรู้จริง เพื่อง่ายต่อการพัฒนาที่ซับซ้อนขึ้น จะได้เห็นประโยชน์จากการดำเนินการจริง
       ๒) การเรียนรู้ร่วมกัน เกี่ยวกับการจัดการความรู้ ต้องเน้นให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน และสามารถติดตามได้ทั้งกระบวนการ ทั้งด้านการเรียนการสอน การปฏิบัติงานอื่นๆ จะช่วยให้ครูมีประสบการณ์จริงมากขึ้น และควรสร้างเป็นเครือข่ายการจัดการความรู้
               (ผู้วิจัย : ปัจจุบัน : ครูชำนาญการพิเศษ ร.ร.วรนารีเฉลิม อ.เมือง จ.สงขลา สพม.๑๖ )

รามเกียรติ์ฉบับพระเจ้ากรุงธนบุรี

รามเกียรติ์ฉบับพระเจ้ากรุงธนบุรี
 

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงพระราชนิพนธ์ไว้สำหรับให้ละครหลวงเล่น เมื่อ พ.ศ.๒๓๑๒ โปรดให้รับคณะละครหลวงซึ่งหนีสงครามไปอยู่กับเจ้านครศรีฯ ตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาแตกกลับมาอยู่กรุงธนบุรีและให้หัดละครผู้หญิงของหลวงขึ้นใหม่ พระองค์ได้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ขึ้นบางตอน เพื่อให้ละครหลวงเล่น รามเกียรติ์ฉบับพระเจ้ากรุงธนบุรี มี ๔ ตอน ดังนี้ ๑) ตอนพระมงกุฎ ๒) ตอนหนุมานเกี้ยวนางวานริน ๓) ตอนท้าวมาลีวราชว่าความ ๔) ตอนทศกัณฐ์ตั้งพิธีทรายกรดและปลุกเสกหอกกบิลพัท(ที่มา...กุหลาบ มัลลิกะมาสและวิพุธ โสภวงศ์.ประวัติวรรณคดี๒.กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา,๒๕๓๑.)

ยอดของวรรณคดี

ยอดของวรรณคดี

*ยอดของวรรณคดี* วรรณคดีสโมสร พิจารณายกย่องวรรณคดีประเภทต่างๆ ๘ เรื่อง ดังนี้ ๑. ลิลิตพระลอ : ยอดของลิลิตสุภาพ ๒. สมุทรโฆษคำฉันท์ : ยอดของคำฉันท์ ๓. มหาชาติกลอนเทศน์ : ยอดของร่ายยาว ๔. เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน : ยอดของกลอนสุภาพ ๕. อิเหนา : ยอดของกลอนบทละคร ๖. หัวใจนักรบ : ยอดของบทละครพูด ๗. สามก๊ก : ยอดของความเรียงนิทาน ๘. พระราชพิธีสิบสองเดือน : ยอดของความเรียงอธิบาย( ที่มา : กุหลาบ มัลลิกะมาสและวิพุธ โสภวงศ์ .ประวัติวรรณคดี ๒ (ท ๐๓๒)หน้า ๑๖๘. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว,๒๕๓๑.)